เข้าสู่ระบบ

ไก่พื้นเมืองไทย

ไก่พื้นเมืองไทย

ไก่พื้นเมืองไทย

ไก่พื้นเมืองไทย โดยมีความหลากหลายของสายพันธุ์ตามลักษณะพื้นที่ที่อาศัยอยู่ ตัวอย่างของไก่ในกลุ่มนี้ได้แก่ ไก่แจ้ ไก่ชน ไก่ตะเภา

กลุ่มนี้คือประเภทไก่ที่เราน่าจะคุ้นเคยกันมากที่สุด เพราะเป็นไก่ที่เริ่มต้นเพาะเลี้ยงในบริเวณบ้านตามชนบทอย่างอิสระ โดยมีความหลากหลายของสายพันธุ์ตามลักษณะพื้นที่ที่อาศัยอยู่ ตัวอย่างของไก่ในกลุ่มนี้ได้แก่ ไก่แจ้ ไก่ชน ไก่ตะเภา เป็นต้น ระหว่างที่เพาะเลี้ยงก็มีการผสมข้ามสายพันธุ์ไปตามธรรมชาติจนเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ วิธีการเรียกชื่อสายพันธุ์แบบไทยนั้นเข้าใจได้ง่าย เนื่องจากเรียกตามลักษณะภายนอกที่มองเห็นได้ชัดเจน โดยมีการแนะนำสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองไทยที่น่าสนใจเอาไว้ในหนังสือการผลิตสัตว์ปีกของ ผศ.ดร.ประภากร ธาราฉาย ดังนี้

พันธุ์เหลืองหางขาว
นี่คือสายพันธุ์ไก่ชนที่มีรูปร่างสูง ช่วงบนกว้าง กล้ามเนื้อแน่น ปากค่อนข้างใหญ่และมีความงุ้มลงเล็กน้อยที่ส่วนปลาย รูปตาเป็นทรงตาเหยี่ยว มีหงอนขนาดเล็กแบบหงอนถั่วหรือหงอนหิน ขนส่วนใหญ่เป็นสีดำและอาจมีสีขาวแซมให้เห็นบ้างบริเวณปีกและส่วนหัว มีสร้อยปีก สร้อยหลัง และสร้อยคอสวยงาม เส้นขนทั้งหมดค่อนข้างยาวและมีความละเอียด เกล็ดแข็งและเดือยมีสีขาวอมเหลือง ลักษณะของไก่ตัวเมียจะคล้ายคลึงกับตัวผู้ทุกประการ แต่ก็มีบ้างบางตัวที่จะมีกระขาว 5 หย่อมเป็นจุดเด่นแตกต่างออกไป

พันธุ์ประดู่หางดำ
ยังคงเป็นสายพันธุ์ไก่ชนยอดนิยมอีกเช่นกัน ลักษณะของไก่พันธุ์นี้คือมีรูปร่างหนาสมส่วน ตัวยาวล่ำสัน กล้ามเนื้อแน่นแข็งแรง ช่วงขาแข็งมาก หงอนด้านบนเป็นหงอนถั่วหรือหงอนหิน ปากใหญ่และงุ้มเล็กน้อยเหมือนนกแก้ว มีสีน้ำตาลแก่ไปจนถึงสีดำ จะถือว่าส่วนปากเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของไก่พันธุ์นี้เลยก็ได้ ขนพื้นเป็นสีดำสนิทแล้วแซมด้วยขนสีประดู่ในรูปแบบของระย้า สร้อยปีก สร้อยหลัง และสร้อยคอ เส้นขนสั้นละเอียด ขนช่วงหางมีสีดำสนิทเป็นมันเงา  ส่วนตัวเมียก็จะคล้ายคลึงกับตัวผู้แต่จะไม่มีสร้อยให้เห็น

พันธุ์เขียวกา
ไก่พันธุ์นี้มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่าไก่พันธุ์เขียวหางดำ หากมองผิวเผินก็จะคล้ายกับพันธุ์ประดู่หางดำ แต่จะไม่มีขนสีประดู่แซม กลับเป็นสีเขียวเข้มในส่วนของสร้อยคอและสร้อยหลังแทน หงอนหินช่วงด้านหน้าค่อนข้างบางและยกสูงตรงช่วงกลางก่อนกดต่ำลงที่ปลายท้ายสุด หากเทียบกันแล้วลำตัวของไก่พันธุ์เขียวกาจะดูเพรียวและปราดเปรียวกว่าไก่พันธุ์ประดู่หางดำ ขนปีกอาจมีสีเขียวปะปนได้ เพียงแต่มีเฉดที่เข้มมากจนเกือบจะกลายเป็นสีดำ นอกจากนี้ส่วนหน้าแข้งและเล็บของไก่ก็เป็นสีดำด้วยเช่นกัน

พันธุ์ประดู่แสมดำ
เป็นไก่ที่มีรูปร่างค่อนข้างสูงเพรียว ตัวยาว ปากใหญ่สีดำสนิทและมีปลายงุ้มลงเล็กน้อย หงอนถั่วหรือหงอนหินสีแดงสด ไม่ว่าจะเป็นขนพื้นช่วงลำตัว ขนหางพัด ขนหางกระรวย ทั้งหมดล้วนเป็นสีดำสนิท และมีขนแซมเป็นระย้าและสร้อยออกโทนประดู่ดำ ซึ่งเป็นสีน้ำตาลเข้มมันเงา ต้องสะท้อนแสงแดดถึงเห็นการตัดกันของสีขนได้ชัดเจนขึ้น ตั้งแต่หน้าแข้งจนถึงปลายนิ้วเท้าจะเป็นสีเขียวอมดำ

พันธุ์ประดู่แดง
รูปร่างของไก่พันธุ์ประดู่แดงนั้นค่อนข้างสูงโปร่ง ช่วงหลังยาว และมีปีกที่ใหญ่ยาวเช่นเดียวกัน ปากเป็นสีขาวอมเหลืองขนาดไม่ใหญ่มากนักและมีปลายงุ้ม นัยน์ตาขาวอมเหลือง พบได้ทั้งแบบหงอนถั่วและหงอนหิน ลักษณะขนพื้นทั่วตัวกับขนสร้อยทั้งหมดจะคล้ายคลึงกับไก่นกกรดหางดำ ซึ่งเป็นโทนสีน้ำตาลอ่อนสลับดำขลับ ช่วงปลายหางจะเป็นสีดำสนิท ขนหางจะแตกต่างกันไปตามความสมบูรณ์แข็งแรง ยิ่งขนยาวเป็นมันเงาสวยงามเท่าไรก็หมายความว่าไก่ยิ่งแข็งแรงดีเท่านั้น

พันธุ์เขียวเลาหางขาว
สายพันธุ์นี้จะมีลักษณะรูปร่างที่คล้ายกับหัวปลี ที่ด้านบนกว้างและเล็กแคบลงตรงช่วงล่าง ไก่จะมีไหล่ใหญ่และค่อนข้างหนา ลำตัวกลมยาว มีปากเป็นทรงงุ้มสีขาวเหลืองหรือขาวงาช้าง หงอนหินหรือหงอนถั่ว ช่วงตัวและปีกจะมีขนสีดำสนิท ตัวผู้จะมีขนสร้อยเป็นสีเขียวเลา ขนหางกระรวยคู่กลางเป็นสีขาวล้วน ที่เหลือเป็นขนขาวปลายดำ แต่ตัวเมียจะมีเส้นขนที่สั้นกว่า หางทั้งหมดดำสนิท ส่วนแข็งและเล็บจะมีสีน้ำตาลอมเหลืองเหมือนกัน

พันธุ์นกแดง
เป็นไก่อีกสายพันธุ์หนึ่งที่มีรูปร่างคล้ายทรงปลีกล้วย คือมีลำตัวกลมหนา ช่วงไหล่ใหญ่และลู่เล็กลงไปทางปลายหาง จุดเด่นอยู่ที่มีขอบตา 2 ชั้น นัยย์ตาเป็นสีแดงแจ่มใส ถ้าหงอนไม่เป็นหงอนถั่วก็จะเป็นหงอนหิน 3 แฉก มีปากขนาดใหญ่สีเหลืองอมแดง ขนพื้นมีเฉดสีแดงเข้มทั้งหมดตั้งแต่หัวจรดหาง แม้แต่ก้านขนก็เป็นสีแดงด้วย ตัวเมียจะมีสีขนอ่อนกว่าตัวผู้เล็กน้อย

พันธุ์ไก่ขาว หรือไก่ชี
สำหรับไก่สายพันธุ์นี้มีการสันนิษฐานไว้ตามข้อมูลของกรมปศุสัตว์ว่า อาจเป็นการกลายพันธุ์มาจากไก่พื้นเมืองไทยเลาหางขาวดั้งเดิม ความพิเศษอยู่ที่ขนเป็นสีขาวทั่วทั้งตัว หากเกิดการผสมพันธุ์ระหว่างตัวขนขาวด้วยกัน ลูกไก่ที่ได้ยังยิ่งมีเส้นขนสีขาวสวยงาม จะงอยปากใหญ่ปลายงุ้มและมีสีขาวอมเหลือง หงอนแบบถั่วหรือแบบหินสีแดงสด เดือยและเกล็ดแข้งเป็นสีเดียวกับปาก

พันธุ์ไก่ขาวเผือก หรือขาวมุก
นับเป็นไก่ที่สง่างามและเริ่มหาได้ยากแล้วกับสายพันธุ์ขาวเผือกหรือขาวมุก ลักษณะเฉพาะจะอยู่ที่รูปร่างสูงใหญ่ อกกว้าง บั้นท้ายก็กว้าง ปีกใหญ่ และมีจะงอยปากใหญ่พร้อมมีร่องปากสีขาวอมเหลือง หงอนเป็นหงอนถั่วหรือหงอนหินสีแดง นัยน์ตาเป็นสีดำขลับแล้วล้อมกรอบล้อมดวงตาด้วยสีเหลืองอ่อน ทั้งขนตามลำตัว ช่วงปีก สร้อยปีก สร้อยหลัง และช่วงขาทั้งหมดเป็นโทนสีขาวอมเหลือง

พันธุ์ไก่เบญจรงค์
ไก่เบญจรงค์จะมีรูปร่างสูงใหญ่และสง่างามมาก ช่วงไหล่กับอกกว้าง มีกล้ามเนื้อแน่น ปากใหญ่ปลายงุ้มสีขาวอมเหลือง ความสวยงามและโดดเด่นอยู่ที่ลำตัวซึ่งมีหลากสี คล้ายคลึงกับถ้วยโถที่เป็นงานเบญจรงค์นั่นเอง ตัวอย่างของสีที่พบได้ในไก่ตัวเดียวก็คือ สีขาว สีดำ สีเหลือง สีเขียว สีแดง เป็นต้น การเรียงสีขนก็จะสลับกันไปอย่างอิสระ ส่วนสร้อยคอ สร้อยปีก และสร้อยหลังจะเป็นสีแดงสลับขาวเท่านั้น

พันธุ์ไก่ฟ้าหลวง
ดร. สวัสดิ์ ธรรมบุตร กล่าวว่านี่คือไก่พื้นเมืองของชาวเชียงราย เป็นไก่ที่เพาะเลี้ยงกันมากในหมู่บ้านบนที่สูงของเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง ไก่พันธุ์แม่ฟ้าหลวงจะมีรูปร่างอ้วน ปากสั้นสีดำ มีหงอนจักรและตุ้มหูสีแดงอมดำ ถึงจะตัวเล็กแต่มีความแข็งแรงของร่างกายค่อนข้างสูง ตัวผู้มีขนสีดำอมเทาและมีขนสร้อยกับขนระย้าสีเหลืองอ่อน หางด้านท้ายเป็นสีดำทั้งหมด ส่วนสีขนของตัวเมียจะมีความอมเทาน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด

พันธุ์ไก่ชี้ฟ้า
พันธุ์ไก่ชี้ฟ้าเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์จากเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย แต่เป็นไก่พื้นเมืองของชาวไทยภูเขา ที่มีลักษณะอ้วนเตี้ย ปากสั้น ดูผิวเผินจะมีความคล้ายคลึงกับพันธุ์ไก่ฟ้าหลวงอยู่มาก แค่มีพื้นที่เพาะเลี้ยงที่ต่างกันเท่านั้นเอง ตัวผู้มีขนโดยรวมสีดำอมเทา และตัวเมียก็จะมีขนสีดำทั้งหมด

พันธุ์ไก่คอล่อน
มาถึงไก่พันธุ์พื้นเมืองของทางภาคใต้กันบ้าง ว่ากันว่าเป็นไก่เนื้อที่มีรสชาติอร่อย พบมากที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ นอกจากเลี้ยงเป็นอาหารแล้วก็ยังเป็นไก่ชนของคนในพื้นที่ด้วย ไก่สายพันธุ์นี้มีลำตัวค่อนข้างใหญ่ ไหล่กว้าง มีกล้ามเนื้อมากและดูค่อนข้างแข็งแรง หงอนจักรเป็นสีแดงสด ปากปลายงุ้มขนาดใหญ่ ทั้งตัวเมียและตัวผู้มีขนสีเหลืองทองเหมือนกัน จุดสำคัญคือ ช่วงระหว่างกระเพาะพักถึงหัวจะไม่มีขนเลย

ติดตามข่าวสารไก่ชนได้ที่ สืบสานไก่ชน หรือไลน์แอด @cockfight888 

@cockfight888
LINE : @cockfight888