ไก่ชน พัฒนามาจากไก่ป่าที่ถูกจับมาเลี้ยงดูตามบ้านเรือน โดยคนจีนเป็นชนกลุ่มแรกที่นำมาเลี้ยงไว้เพื่อเป็นแหล่งอาหาร เมื่อราว 3,000 ปีก่อน ก่อนจะขยายการเลี้ยงดูไปสู่พื้นที่อื่นๆ แต่ด้วยความที่ไก่ชนิดนี้มีนิสัยหวงถิ่นที่อยู่ หากถูกรุกรานถิ่นอาศัยหรือมีตัวผู้ตัวอื่นมาหมายปองตัวเมียตัวเดียวกัน ก็จะเกิดศึกหน้านางขึ้น จนกว่าอีกฝ่ายจะปราชัย ด้วยอุปนิสัยเฉพาะดังกล่าวมา จึงมีการนำไก่ป่าตัวผู้มาตีกันเพื่อความบันเทิง และเริ่มมีการหันมาพัฒนาสายพันธุ์ไก่ป่าเพื่อขยายพันธุ์เพาะเลี้ยงอย่างจริงจัง สำหรับใช้เป็นแหล่งอาหารและความบันเทิงในเกมกีฬา “ชนไก่(เอาไก่ตัวผู้ฟอร์มดีมาตีกัน)” ซึ่งมีการพนันขันต่อเงินรางวัลในวงของผู้เล่นด้วย ไก่ป่าที่นำมาขึ้นสังเวียนเพื่อเงินพนันหรือไก่ป่าที่ถูกเพาะเลี้ยงมาเพื่อ “ชนไก่” จึงถูกเรียกว่า”ไก่ชน” ต่อมาเกมกีฬานี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศแถบอาเซียน เช่น ประเทศไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ลาว เขมร พม่า การชนไก่จึงกลายเป็นทั้งเกมกีฬาและวงพนัน ที่คนไทยพื้นบ้านนิยมชมชอบจากอดีตมาถึงปัจจุบัน ซึ่งสายพันธุ์ไก่ชนที่เลี้ยงเพื่อเกมกีฬาชนไก่ของบ้านเราในขณะนี้ ล้วนเป็นไก่ชนพันธุ์ผสมที่มีแหล่งกำเนิดมาจากประเทศต่างๆ ดังกล่าวมา เช่น ไก่ชนพม่า (ป่าก๋อย) ไก่ชนเวียดนาม (ไซ่ง่อน) ไก่ชนไต้หวัน (เยียร์) และไก่ชนไทย ที่มีจุดเด่น จุดด้อย แตกต่างกันไปตามถิ่นกำเนิดหรือวัตถุประสงค์ของผู้ปรับปรุงพันธุ์ โดยจุดเด่นของไก่ไทย จะอยู่ที่ความมีภูมิต้านทานต่อโรคและมีความอึดมาก ส่วนไก่ชนสายพันธุ์พม่าจะตีถี่ตีหนัก ด้านไก่เวียดนามนั้นมีดีที่กระดูกใหญ่ หนังเหนียว ผิวหนา และ ไก่ไต้หวันที่ตีถี่และหนักมาก ดังนั้น การจะปรับปรุงพันธุ์หรือเลือกเล่นไก่ชนสายพันธุ์ใด ล้วนขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้พัฒนาสายพันธุ์ว่าต้องการคุณสมบัติเด่นในด้านใด แล้วเพาะเลี้ยงจำหน่ายเพื่อนำไปใช้ในการ“ชนไก่” เป็นหลัก ซึ่งถ้ามีประวัติดี เจนสังเวียน แข่งชนะมาหลายยก จะสนนราคาขายกันเป็นหลักแสน-หลักล้าน หากเป็นเพียงไก่ชนทั่วไปที่มีลักษณะดี ไม่เจนสนาม ก็จะขายกันตั้งแต่ตัวละหลักร้อย-หลักหมื่น หัวใจหลักของการเลี้ยงดูไก่ชนเพื่อให้ประสบความสำเร็จก็คือ ไก่ต้องแข็งแรง มีสุขภาพดี ตีแล้วได้ชัยชนะ ซึ่งนักเล่นไก่ชนรุ่นเก๋า มักจะมีเทคนิคเฉพาะตัว หรือ สูตรลับเฉพาะในการดูแลไก่ชนให้พร้อมสู้และคว้าชัยในสังเวียน ด้วย 17 เคล็ดลับเด็ดๆ กับวิธีการเลี้ยงไก่ชนให้แกร่งพร้อมชนะ ที่การันตรีว่าเป็นเทคนิควิธีจากประสบการณ์ตรงของผู้เลี้ยงไก่ชนที่ได้ผลดีมาก ดังจะกล่าวถึงต่อไปนี้
1.การบำรุงกำลัง เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ทำสืบเนื่องกันมา จัดเป็นเทคนิคง่ายๆ แต่เด็ดดวงในการเพิ่มกำลังให้ไก่ชนมีแรงหึกเหิม แรงไม่ตก กระปรี้กระเปร่า วิ่งสู้ฟัตได้นานและยังทำให้ผิวพรรณดี ขนสวย ด้วยการให้ไก่ชนกินกล้วยน้ำว้าที่สุกงอมทุกๆ วัน วันละ 1 ลูก เช้า-เย็น โดยแบ่งป้อนเป็นคำเล็กๆ ขนาดเท่าลูกกลอนหรือพอดีคำ วิธีการนี้จะทำก่อนนำไก่ชนลงสังเวียน 7 วัน จะทำให้ไก่ชนแกร่งมีพลังพร้อมสู้ หรือถ้าจะให้ดี ควรให้กินทุกวันไปเลยจะดีมาก เนื่องจากกล้วยน้ำว้าสุก นั้นมีประโยชน์ด้านการปรับสมดุลร่างกายโดยไม่ต้องพึ่งยาบำรุงไก่ชนราคาแพงอีกต่อไป
2. ป้องกันท้องร่วง-ท้องเสีย : สภาพอากาศแบบ 3 วันดี 4 วันร้อน 1 วันฝน จัดเป็นความแปรปรวนที่ปั่นป่วนสิ่งมีชีวิตได้ทุกชนิด โดยเฉพาะกับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงดูไว้ในพื้นที่จำกัด ไม่ว่าจะเป็น เป็ด ไก่ หมู ปลา ล้วนได้รับอิทธิพลจากสภาพอากาศแปรปรวนจนทำให้เกิดความเครียดขึ้นได้ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่การเลี้ยงไก่ทุกสายพันธุ์ เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้นไก่มักจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวตามมา หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ไก่ตายได้ การป้องกันไก่ท้องเสียให้ใช้ใบหรือยอดชะอม 100 กรัม(1 ขีด)ขยำให้ช้ำในน้ำเปล่า 1 ลิตร แล้วนำไปเลี้ยงไก่ โดยให้ไก่กินแทนน้ำเปล่าและต้องเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกวัน ไม่ทิ้งไว้ข้ามคืน วิธีนี้จะทำให้ไก่ไม่ท้องเสียอีก และยังสามารถใช้ได้กับไก่ทุกช่วงอายุ ทุกสายพันธุ์ นอกจากนี้ยังใช้เป็นการเยียวยารักษาไก่ที่มีอาการท้องเสียให้หายได้ด้วย
3. การถ่ายพยาธิ :ไก่ชนเป็นสัตว์ที่ต้องทะนุถนอมคอยระวังเกี่ยวกับโรค และต้องรักษาสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ โดยเซียนไก่ชนจะมีสูตรเด็ดในการจัดการดูแลไก่ชนของตนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่สิ่งที่ทุกคนจำเป็นต้องปฏิบัติเหมือนๆ กันก็คือ การถ่ายพยาธิให้ไก่ชนของตนเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อให้ไก่ชนมีสุขภาพแข็งแรงดี ซึ่งพยาธิที่เห็นอยู่เป็นประจำในตัวไก่ ไม่ว่าไก่เล็กหรือไก่โต จะมีอยู่ด้วยกันสองชนิด คือ พยาธิตัวกลม พยาธิเส้นฝอยและพยาธิตัวแบน มักดูดกินอาหารในลำไส้ทําให้ไก่อ่อนเพลีย ซูบผอม ขนหยาบ เจริญเติบโตช้าและท้องเสีย โดยสูตรนี้สามารถถ่ายพยาธิแบบได้ผล 100% ให้กับไก่ชนทุกรุ่น ทุกวัย
4. ป้องกันการเกิดโรคฝีดาษ : ใช้ใบผักหนาม ซึ่งเป็นพืชล้มลุกขึ้นตามที่ชื้นแฉะ ริมหนองน้ำ ข้างลำธาร พบเห็นได้ทุกภาคของเมืองไทย มีลักษณะหนามแหลมตามลำต้นและก้านใบ มีเหง้าอยู่ใต้ดิน สามารถใช้ป้องกันโรคฝีดาษในไก่ได้ โดยใช้เหง้าผักหนาม(หั่นเป็นแว่นๆ หรือ ทุบ)1 กก.+ ต้มในน้ำสะอาด 2 ลิตร ให้เดือด แล้วเคี่ยวต่อไปจนเหลือน้ำ 1 ลิตร จากนั้นทิ้งให้เย็นแล้วนำไปเลี้ยงไก่แทนน้ำธรรมดาเป็นประจำ หรือหากต้องใช้น้ำเป็นส่วนผสมของอาหารไก่ ให้นำน้ำต้มผักหนามเป็นส่วนผสมแทน
5. อาหารโปรตีนสมุนไพรบำรุงกำลัง – ป้องกันโรค : การป้องกันโรคและบำรุงกำลังไก่ชนให้แข็งแรงนั้นมีหลายสูตรด้วยกัน ส่วนผสมและการผลิตก็หลากหลาย แต่นี่คือสูตรที่ทำได้ง่าย ใช้บำรุงกำลังไก่ได้ดี ทำให้ไก่ชนแข็งแรง ไก่ที่กินอาหารสูตรนี้อย่างสม่ำเสมอ จึงไม่ค่อยเป็นโรค หากมีการให้ไก่ชนกินอาหารตามสูตรนี้
6. เร่งสีแข้ง : ไก่ชนมาดดีฟอร์มสวย นอกจากจะมีรูปร่างสวยงาม หงอนจะงอยสมบูรณ์ดีแล้ว เรื่องเดือยหรือแข้งก็เป็นสิ่งสำคัญที่เซียนไก่ชนต้องใส่ใจมาก เพราะนอกจากจะเป็นอาวุธสำคัญแล้ว สีที่สวยสมบูรณ์ ยังบ่งบอกถึงสุขภาพของไก่ตัวนั้นได้ด้วย การดูแลสีบริเวณแข้งให้สวยสดงดงามมีเทคนิคเฉพาะ คือ ต้องเลี้ยงไก่ชนด้วยข้าวโพด โดยต้องนำเมล็ดข้าวโพดแห้งมาบดหรือปั่นให้ละเอียด ก่อนนำไปผสมอาหารให้ไก่กินหรือกินแบบเพียวๆ ทั้งเช้าและเย็นเป็นประจำ วันละ 1 – 2 ครั้ง จะพบว่าสีแข้งของไก่ชนนั้นมีความสดสวยเด่นชัดขึ้น
7. เสริมโปรตีน : วิธีเสริมโปรตีนให่ไก่ชนแบบไม่ต้องมีต้นทุนมาก แต่ให้ผลดีในแง่การเสริมกำลังกล้ามเนื้อและทำให้ไก่ชนโตดี ด้วยการนำอาหารหมูนมมาให้ไก่ชนกินตั้งแต่เริ่มฟักออกจากไข่ไปจนอายุได้ไม่เกิน 3 เดือน ไม่ควรให้นานกว่านี้ เพราะถ้าให้นานกว่านี้จะมีปัญหาเรื่องแข้งอ่อน และควรให้ในอัตรา อาหารหมูนม 1 ส่วน+ข้าวเปลือก 3 ส่วน ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำไปให้ไก่กินเช้า-เย็น
8. ฟื้นกำลัง – ลดอาการอ่อนเพลีย : ช่วงพักฟื้นหลังลงจากสนามประชันแข้งหรือช่วงฟื้นจากอาการเจ็บป่วย ไก่ชนจะอ่อนเพลีย ไม่กระปี้กระเป่า และไม่ค่อยเจริญอาหารอีกด้วย ตัวช่วยทำให้พลังกายไก่ชนตัวโปรดฟื้นคืนดี ให้นำข้าวสาร(ข้าวเหนียว)ที่สะอาดแช่ในน้ำทิ้งไว้ประมาณ 3- 4 ชั่วโมง แล้วนำน้ำแช่ข้าวสาร 1 ถ้วยตวงหรือ 250 ซีซี ไปอุ่นไฟให้พออุ่น-ร้อน จากนั้นยกลง แล้วใส่หัวข่าที่ผ่าเป็นแว่นบางๆ 1-2 ชิ้นลงไปในน้ำแช่ข้าวเหนียวขณะที่ยังอุ่นอยู่ ตั้งทิ้งไว้ให้เย็นตัว ก่อนนำไปให้ไก่ชนกิน บำรุงกำลังจากภายในสู่ภายนอก จะช่วยทำให้ไก่ชนหายอ่อนเพลีย มีความสดชื่นและเจริญอาหารยิ่งขึ้น
9. เสริมพลัง :การบำรุงไก่ชนให้แข็งแรงและทรงพลังมีหลากหลายวิธีแล้วแต่วัตถุดิบที่สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น แต่มีอยู่สูตรหนึ่งที่หาได้ง่ายและได้ผลดี เป็นสูตรของคุณอนันต์ สุขสุด ผู้เลี้ยงไก่ชนเป็นอาชีพหลัก ได้แนะนำให้ป้อนปลาช่อนย่างไก่ชนวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 2-3 ช้อนชา หรือ ให้ไก่ชนกินไข่แดงจากไข่นกกระทาวันละ 1 ฟอง หรือจะใช้ขนมหวานจำพวกทองหยิบ ทองหยอดแทนกันก็ได้ โดยนำทองหยอด/ทองหยิบ 1 ชิ้น มายีเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเอาไปให้ไก่กิน ให้เพียงวันละครั้ง ครั้งละ 1 ชิ้นเท่านั้น จะทำให้ไก่ชนแข็งแรง ทรงพลัง
10. รักษาแผล : หลังจบสังเวียนอันดุเดือด ไก่ชนจะมีบาดแผลที่เกิดจากการจิกตี การเยียวยา รักษาแบบได้ผลดีและไม่มีค่าใช้จ่ายมากก็คือให้ใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำผึ้งชันโรง ทาบริเวณบาดแผล วันละ 2-3 ครั้ง ทำติดต่อกันจนกว่าแผลจะหาย จะช่วยทำให้แผลแห้งและรัดเนื้อได้ดี แล้วไก่ชนจะกลับมาสวยและแข็งแรงอีกครั้ง
11. เพิ่มความกล้าหาญ : การเลี้ยงไก่ชนนั้นเซียนไก่ชนต้องมีวิธีการเลี้ยงหรือสูตรเด็ดเคล็ดลับของแต่ละคนแตกต่างกันไป เพื่อบำรุงไก่ชนให้ร่างกายแข็งแรง มีความกล้าพร้อมที่จะออกชนอยู่เสมอ ซึ่งสูตรสมุนไพรต่อไปนี้จะทำให้ไก่ชนที่เลี้ยงไว้มีความกล้าหาญ ฮึกเหิม พร้อมเข้าสู่สังเวียนโดยไม่ลังเล ด้วยการใช้ เถาบอระเพ็ด + เหง้ากระชาย + หัวไพล (อย่างละ 7 แว่น) + กระเทียม 3 กลีบ + พริกไทยแห้ง 3 เมล็ด + เนื้อปลาช่อน ครึ่งกิโลกรัม + น้ำผึ้ง 1 ขวด
12. น้ำอาบ : การทำน้ำอาบไก่ชน ด้วยสมุนไพรสูตรนี้ นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อไก่ชนมีความแข็งแรง โดยจะนำหัวไพลสด 5 แว่น + ใบส่มป่อย 1 กำมือ + ตะไคร้ต้น 3 ต้น + ใบมะกรูด 5 ใบ + ใบมะนาว 5 ใบ นำสมุนไพรทุกอย่างใส่หม้อต้มกับน้ำจนเดือด แล้วยกลงทิ้งไว้ให้อุ่น จากนั้นนำผ้ามาชุบน้ำสมุนไพรนี้ไปทำความสะอาดตัวไก่วันละ 1 ครั้ง ในช่วงเช้า แล้วนำไก่ไปตากแดดให้ขนแห้ง ทำเป็นประจำทุกวัน และ **หยุดอาบน้ำสมุนไพร 15 วันก่อนนำไก่ขึ้นสังเวียน ในช่วงนี้ให้ใช้น้ำธรรมดาอาบเป็นพอ เพื่อให้ไก่ได้ขยายกล้ามเนื้อ และขยับตัวได้ง่าย
13. ท้องอืด อาหารไม่ย่อย : เมื่อไหร่ก็ตามที่ไก่ชนเริ่มมีอาการเหงาซึม ไม่กินอาหารได้ดีเหมือนก่อน และไม่มีสัญญานของโรคภัยอื่น เช่น หายใจดังครืดคราด มีน้ำมูกน้ำลายไหล แสดงว่าไก่มีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อยก็เป็นได้ เบื้องต้นให้จับไก่ขังสุ่มไว้อย่าให้กินอาหารอะไร จากนั้น เลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งต่อไปนี้ในการเยียวยารักษาไก่ชน
14. รักษาตาเจ็บ บวม อักเสบ และ เป็นหนอง : หากไก่ชนมีอาการตาเจ็บ บวม อักเสบและเป็นหนอง น่าจะมีสาเหตุมาจากเมล็ดข้าวเปลือกไปติดค้างอยู่บนเพดานปากจนเกิดการอับเสบและทะลุไปที่ตา หรือเกิดจากพยาธิ หรือหวัดทำให้ไก่หน้าบวมขึ้นก็เป็นได้ ในการรักษาให้ใช้ยาแก้อับเสบทั่วไป หรือใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
1. ตัดเถาตำลึงสดๆ มาให้ได้ความยาวประมาณ 1 – 2 ข้อนิ้ว เด็ดใบออกหมดจนเหลือแต่ต้น แล้วนำไปเป่าใส่ตาไก่ น้ำที่มีอยู่ในเถาตำลึงจะช่วยแก้อาการตาอักเสบ-เป็นหนองในไก่ได้
2. ใช้พริกขี้หนูสดตำผสมน้ำ แล้วเป่าใส่ตาไก่
3. ใช้ยาฉุนแช่น้ำ แล้วเป่าใส่ตาไก่
15. แก้หวัด : หากไก่ที่เลี้ยงไว้มีอาการหวัด หายใจไม่สะดวกและหน้าบวม วิธีการเยียวยารักษาแบบได้ผลดี โดยไม่ต้องพึ่งยาเคมี คือ
1. ต้องรักษาความสะอาดที่ใส่อาหาร กรงไก่ชนอยู่เสมอ
2. ให้นำหอมแดงมาหั่นออกเป็นแว่นๆ แล้วนำไปบีบหรือขยี้ตรงบริเวณรูจมูก เพื่อช่วยให้ไก่หายใจได้สะดวกขึ้น และลดอาการไข้
3. ลดอาการหน้าบวม ให้ใช้ฟ้าทะลายโจร หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปตากแดด จากนั้นนำมาคลุกกับน้ำปั้นเป็นก้อนๆ เป็นยาลูกกลอนเล็กๆ ขนาดพอดีคำให้ไก่กินวันละ 1 – 2 เม็ด
16. การออกกำลังกาย : เคล็ดลับเพิ่มความแข็งแรงให้ไก่ชน คือ ต้องให้ไก่ชนได้ออกกำลังกายเป็นประจำ จึงจะทำให้มีกำลังดี ซึ่งมีเทคนิควิธีง่ายๆ แค่ขังไก่ชนตัวหนึ่งไว้ในสุ่มไก่ 2 อันซ้อนเหลื่อมกันไว้ ต้องระวังอย่าให้มีช่องว่างมาก แล้วปล่อยไก่ชนอีกตัวเป็นตัวล่ออยู่ด้านนอกสุ่ม เพื่อกระตุ้นให้เกิดสัญชาติญานการต่อสู้กันตามธรรมชาติ แล้วจะพบว่าไก่ชนที่อยู่ข้างนอกสุ่มนั้น มีความพยายามจะวิ่งเข้าไปจิกไก่ที่อยู่ในสุ่มและวิ่งวนสุ่มอย่างนั้นไปเรื่อยๆ
17. รักษากลากเกลื้อน : ปัญหาโรคผิวหนังในไก่ชน นอกจากจะทำให้ไก่มีสุขภาพไม่ดีแล้วยังจะมีผลต่อความสวยงามของไก่ ที่จะมีขนหร๋อมแหร๋มไม่สวยงามอีกด้วย หากไก่ที่เลี้ยงไว้มีอาการของกลากเกลื้อน ให้ใช้
1. ใบกะเพรา 3 ส่วน
2. น้ำมันพืช 5 ส่วน
วิธีการทำ : นำใบกะเพรามาคั่วด้วยไฟอ่อนให้แห้ง บดให้ละเอียด แล้วนำไปหมักกับน้ำมันพืช ผสมให้เข้ากัน หมักทิ้งไว้ 3 วัน จึงนำมาใช้ทาบริเวณผิวหนังไก่ชนที่เป็นโรคกลากเกลื้อน เช้า – เย็น ไม่นานก็หาย