การเลี้ยงและการควบคุมโรคไก่

การควบคุมโรคไก่ ปัญหาที่สำคัญที่สุดในการเลี้ยงไก่คือ เรื่องโรค เช่น โรคนิวคาสเซิลโรคหลอดลมอักเสบ โรคอหิวาต์ โรคฝีดาษ
การควบคุมโรคไก่ ปัญหาที่สำคัญที่สุดในการเลี้ยงไก่คือ เรื่องโรค เช่น โรคนิวคาสเซิลโรคหลอดลมอักเสบ โรคอหิวาต์ โรคฝีดาษ นอกจากนี้ยังมีโรคพยาธิต่าง ๆ ทั้งพยาธิภายนอก เช่น เหา ไร หมัด และพยาธิภายใน เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิตัวแบน พยาธินัยน์ตาไก่
วิธีป้องกันและควบคุมโรคและพยาธิที่ดีที่สุดคือ
- การสุขาภิบาลที่ดี
- การให้วัคซีนป้องกันโรค โดยสม่ำเสมอ
- การสุขาภิบาล เป็นสิ่งสำคัญมากในการป้องกันโรคและพยาธิไก่เพราะถ้าการสุขาภิบาลไม่ดีจะเป็นสาเหตุให้ไก่สุขภาพเลวลง ไม่แข็งแรงเป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย ซึ่งมีข้อแนะนำดังนี้
1. ควรดูแลทำความสะอาดเล้าและภาชนะต่าง ๆ ที่วางไว้ในเล้าไก่และบริเวณใกล้เคียงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และอย่าปล่อยให้เล้าชื้นแฉะเพราะจะเป็นที่หมักหมมของเชื้อโรค
2. สร้างเล้าให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
3. กำจัดแหล่งน้ำสกปรกรอบ ๆ บริเวณบ้านเล้าไก่และใกล้เคียง
4. อาหารไก่ต้องมีคุณภาพดี อาหารที่กินไม่หมดให้ทิ้งอย่าปล่อยให้เน่าเสีย
5. มีน้ำสะอาดให้ไก่กินตลอดเวลา
6. ถ้ามีไก่ป่วยไม่มากนัก ควรกำจัดเสีย และจัดการเผาหรือฝังให้เรียบร้อยจะช่วยกำจัดโรคได้เป็นอย่างดี
7. อย่าทิ้งซากไก่ลงแหล่งน้ำเป็นอันขาด เพราะเชื้อโรคจะแพร่กระจายไปได้
8. กำจัดซากไก่โดยวิธีเผาหรือฝัง ไม่ควรนำไปจำหน่าย เพราะจะทำให้เกิดโรคแพร่ระบาดได้
9. วิธีป้องกันโรคอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราไม่ควรซื้อไก่สดจากตลาดหรือหมู่บ้านอื่นมากิน เพราะไก่พวกนี้อาจเป็นโรคมาแล้วก็ได้
10. เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น เจ้าของไก่ควรติดต่อหารือกับสัตว์แพทย์โดยเร็ว การใช้วัคซีนป้องกันโรคระบาดไก่
ถึงแม้ว่าเราจะได้มีการสุขาภิบาลที่ดีแล้ว แต่โดยปกติในสิ่งแวดล้อมจะมีเชื้อโรคอยู่ ซึ่งสามารถทำให้ไก่เป็นโรคได้ทุกเวลา เราจึงต้องสร้างความต้านทานโรคให้กับไก่ของเราโดยการ ใช้วัคซีนป้องกันโรค ควรให้ตั้งแต่อายุน้อย ๆ และทำตามตารางที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ เป็นวิธีการป้องกันโรคที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยและได้ผลค่อนข้างดี
การให้วัคซีนจะได้ผลดีที่สุดเมื่อ
- สุขภาพของไก่ต้องแข็งแรงไม่เป็นโรค
- วัคซีนมีคุณภาพดี เก็บรักษาดีโดยต้องเก็บในที่เย็น เช่น ใส่กระติกน้ำแข็งหรือตู้เย็น ไม่ควรให้ถูกแสงแดดจะทำให้วัคซีนเสื่อมใช้ไม่ได้ผล
- เครื่องมือที่ใช้กับวัคซีนสะอาดและผ่านการต้มฆ่าเชื้อโรคแล้ว
- ฉีดวัคซีนให้ครบตามขนาดที่กำหนด
- ฉีดวัคซีนโดยสม่ำเสมอ และพยายามฉีดวัคซีนไก่ที่มีสุขภาพดีทุกตัวในฝูงเดียวกัน
สถานที่ซื้อวัคซีน
- กรมปศุสัตว์ พญาไท กรุงเทพฯ
- สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ ทุกอำเภอ
- การซื้อวัคซีต้องนำกระติกบรรจุน้ำแข็งไปเพื่อใส่วัคซีนที่ซื้อทุกครั้ง เพราะวัคซีนต้องเก็บรักษาในความเย็นมิให้ถูกแสงสว่าง เพื่อรักษาคุณภาพของวัคซีนมิให้เสื่อมใช้ไม่ได้ผล นอกจากวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์เป็ด-ไก่ที่ไม่ต้องเก็บไว้ในความเย็น
โรคระบาดไก่ที่สำคัญที่ต้องใช้วัคซีนป้องกัน
ไก่มักจะเป็นโรคนิวคาสเซิล โรคอหิวาต์ โรคฝีดาษ หลอดลมอักเสบ เป็นประจำ เกษตรกรจึงควรใช้วัคซีนป้องกันโรคตามตารางที่กำหนด
จะมายกตัวอย่างโรคและวิธีป้องกันแบบคล่าวๆ
โรคนิวคาสเซิล
เป็นโรคระบาดไก่ที่ร้ายแรงที่สุด มีระบาดทั่วไป ถ้าเกิดขึ้นในฝูงใดมักจะทำให้ตายหมดเล้า ในไก่ใหญ่ทำให้ไข่ลด
อาการ
- ปกติจะแสดงอาการป่วยหลังได้รับเชื้อโรคเป็นเวลา 3-6 วัน โดยแสดงอาการหายใจลำบาก มีเสียงดังในเวลาหายใจ มีน้ำมูกไหล ท้องเสีย กระตุก คอบิด ขาและปีกเป็นอัมพาต ใช้การไม่ได้ บางรายอุจจาระร่วงเป็นสีเขียว แม่ไก่ที่กำลังไข่จะหยุดไข่ทันที และมักตายภายใน 1 อาทิตย์
- ไก่ที่หายจากโรคนี้มักจะพิการ คอบิด ขาและปีกใช้งานไม่ได้ดี และจะเป็นตัวอมโรคต่อไป
สาเหตุและการติดต่อ
โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง การติดต่อของโรคเป็นไปรวดเร็วมากดังนี้
- ติดต่อกันโดยตรงในไก่ป่วยที่อยู่ใกล้ชิดกัน กินน้ำและอาหารร่วมกัน
- ติดไปกับอุปกรณ์การเลี้ยงไก่ คนและสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ตลอดจนนก หนู และแมลงวันก็เป็นตัวนำโรคได้
- จากการชำแหละไก่ที่ป่วยและตายด้วยโรคนี้ ซึ่งในซากไก่จะมีเชื้ออยู่ในปริมาณสูงมากพอที่จะแพร่ระบาดไปยังไก่ตัวอื่น ๆ ในเล้าและไก่บริเวณใกล้เคียงได้
การป้องกัน
โดยการใช้วัคซีนป้องกันซึ่งมี 2 ชนิด ด้วยกันคือ ชนิดหยอดจมูกและชนิดแทงปีกซึ่งใช้กับไก่อายุ 3 เดือนขึ้นไป
โรคฝีดาษไก่
เป็นโรคระบาดที่พบได้มากในลูกไก่และไก่รุ่น นอกจากนี้นกพิราบก็เป็นโรคนี้ได้ ติดต่อได้รวดเร็วมาก มักจะทำให้ไก่ตายเป็นจำนวนมาก ตัวที่ไม่ตายจะแคระแกรนไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร
อาการ
หลังจากไก่ได้รับเชื้อโรคแล้วประมาณ 1 อาทิตย์จะแสดงอาการ ซึ่งอาจพบได้ 2 ลักษณะคือ
- เกิดตุ่มฝีดาษลักษณะคล้ายหูดเกิดขึ้นตามผิวหนังบริเวณที่ไม่มีขน เช่น บริเวณหน้า หงอน เหนียง หนังตา และขา ระยะแรกเป็นเม็ดตุ่มเล็ก ๆ ต่อมาจะค่อย ๆ ใหญ่ขึ้น ที่หัวของฝีเป็นแผลมีสะเก็ดสีน้ำตาลปิดอยู่ ต่อมาจะแห้งและลอกหลุดออกไป
- ตุ่มฝีดาษ ชนิดที่เป็นแผลเกิดขึ้นในลำคอ ทำให้กินอาหารลำบากน้ำลายไหลยืด มีกลิ่นเหม็นเป็นมาก ๆ จะทำให้ไก่ตายได้
สาเหตุและการติดต่อ
เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อได้หลายทางดังนี้
- ทางบาดแผล เช่น แผลที่เกิดจากถูกของมีคม แผลจากการจิกตีกันในฝูง
- ยุงเป็นพาหนะที่สำคัญในการนำเชื้อโรคไประบาดในไก่ตัวอื่น ๆ โดยยุงกินเลือดสัตว์ป่วยในระยะที่มีเชื้อโรคอยู่ในกระแสเลือด เชื้อโรคก็จะเข้าไปอยู่ในตัวยุง เมื่อยุงไปกัดดูดเลือดไก่อีกตัวหนึ่งก็จะปล่อยเชื้อโรคเข้าไปทำให้ไก่เป็นโรค
การป้องกันและรักษา
- ในการเลี้ยงลูกไก่เล็ก ควรระวังอย่าให้ยุงกัด
- ใช้ทิงเจอร์ไอโอดีนทาตามตุ่มฝีที่เกิดขึ้นเพื่อลดการอักเสบของฝีและให้ยาปฏิชีวนะละลายน้ำให้กินติดต่อกัน 3-4 วัน
- การทำวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษไก่ ใช้เข็มแทงปีก โดยแทง 1 ครั้งทำกับไก่อายุ 1 อาทิตย์ขึ้นไป ไก่จะมีภูมิคุ้มกันโรคฝีดาษได้นาน 1 ปี